Image
พระประธานในพระอุโบสถ
Image
พระประธานในพระอุโบสถ
วัดทองนพคุณ 103 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา 17 เขตคลองสาน กทม. "สุทัศน์ เดียวสูงเนิน ผู้ดูแลเว็บ" 

สถิติ
เปิดเมื่อ9/09/2012
อัพเดท11/01/2013
ผู้เข้าชม39413
แสดงหน้า45239
ปฎิทิน
April 2024
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
    




ชาลี เหาะได้ บันทึก...ไว้ที่นี่

อ่าน 1019 | ตอบ 1
 
วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 24 ฉบับที่ 527

ชาลี เหาะได้ บันทึก...ไว้ที่นี่

5-5-2555

วันนี้...ขออนุญาต 'กตัญญู-บูชาครู' หน่อยครับ

ในช่วง...หลายปี หลังๆ มานี้

'ผมไม่ค่อยมีเวลาเข้าวัด...สักเท่าไหร่'


'เข้าวัด' ของผมในที่นี้ หมายถึง...เข้าไปทำบุญสุนทาน-ฟังเทศน์ ฟังธรรม-นะครับ

ส่วนเรื่องไปทำธุระอย่างอื่น เช่น ไปงานศพ-ไปติดต่อการงานอะไรต่างๆ ก็พอมีอยู่บ้าง บางครั้งบางคราว

ทำให้นึกถึงตอนที่บวชเป็นพระนวกะ (นะวะกะ) อยู่ที่วัดทองนพคุณ คลองสาน ฝั่งธนฯ ตอนนั้น 'ท่านพระธรรมเจดีย์' เป็นสมภารอยู่ ส่วนท่านพระอาจารย์เสรี ธมฺมเวที (ภายหลัง คือ พระเทพปริยัติสุธี) เป็นพระอาจารย์สอน 'นวกภูมิ' พวกเราที่เป็นพระนวกะในตอนนั้น

ท่านเคยพูดเปรยๆ กับพวกเราว่า 'พวกพระบวชใหม่ทุกรุ่น-ทุกคนแหละ เมื่อสึกออกไปแล้ว...ก็ไม่ค่อยจะกลับมาหรอก...วัดน่ะ'

'กลับครับ' ผมตอบ

จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ เวลาผ่านไปเกือบจะ 50 ปี แล้ว

'คำพูดของท่าน...ยังเป็นจริงอยู่'

ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาปรารภ ก็เพราะว่า 'มันเป็นอย่างนั้น...จริงๆ'

ใน วันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกๆ ปี เป็นวัน 'ฉัตรมงคล' และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา, และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา พวกเราพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ต่างพร้อมใจกันทำบุญเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

เมื่อ-วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 คณะศิษย์วัด 'ทองนพคุณ' ได้ถือฤกษ์อันอุดมมงคลนี้ สถาปนา 'ชมรมศิษย์วัดทองนพคุณ' ขึ้นมา จวบจนกระทั่งถึง ปี พ.ศ 2555 นี้ ก็เป็นเวลาถึง 37 ปีแล้ว

และเมื่อ วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ทางชมรมศิษย์วัดทองนพคุณ ก็ได้จัดงาน ก็ได้จัดงานทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาชมรมฯ ขึ้นอีกครั้ง เหมือนทุกๆ ปี

ผมก็ได้เข้าไปร่วมงานอีกครั้ง ไปร่วมทำบุญ-เลี้ยงพระ พบปะบรรดาศิษย์เก่าๆ ของวัดทองนพคุณ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายท่านด้วยกัน ก็อบอุ่นไปด้วยไอบุญ อบอุ่นไปด้วยไอของความรักความสามัคคีของพวกเรา 'ชาวศิษย์วัด'

เมื่อพูดถึง 'ศิษย์วัด' ของ 'วัดทองนพคุณ' ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเรียนให้ทราบว่ามีอยู่มากมายจริงๆ ถ้าจะให้ผมแจกแจงกันละก็ เห็นทีจะต้องเขียนกันยืดยาว

เพราะท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน ป.ธ. 9) อดีตเจ้าอาวาส วัดทองนพคุณ, อดีตเจ้าคณะจังหวัดธนบุรี, และอดีตรองเจ้าคณะภาค 4 นั้น ท่านมีศิษย์ก้นกุฏิที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต เป็นที่รู้จักกันในเมืองไทยมากมาย อาทิ ท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส. ศิวรักษ์) นักคิด-นักเขียน ผู้ภันเต ภันเต ของเมืองไทย, ศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต, ด๊อกเตอร์กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ, และผมเอง...ก็เป็นศิษย์ใต้ถุนกุฏิของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ อีกคนด้วยเหมือนกันครับ (แฮ่ม...)

พูดถึง...ชมรมศิษย์วัดทองนพคุณแล้ว ก็ขอเอ่ยนามท่านประธานคนปัจจุบันให้ทราบกันด้วย คือ ท่านอาจารย์วิจักขณ์ คำชาวนา ข้าราชการบำนาญ จากสำนักหอสมุดแห่งชาติ ส่วนท่านเลขานุการชมรมฯ ก็คือ ท่านสมชาย สมานวงศ์

ส่วนท่านอาจารย์ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นรองประธานที่ปรึกษาครับ

เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว ขออนุญาตนำประวัติความเป็นมาของวัดทองนพคุณ จากการเขียนของท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก มาลงให้ทราบกันหน่อยดีกว่า

เป็นที่ทราบกันดีว่า วัดทองนพคุณ หรือ วัดทองแอ๋ (วัดทองล่าง) เป็นวันเก่าแก่สร้างมานาน ตกมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) ปฏิสังขรณ์แล้วถวายเป็นอารามหลวง วัดนี้เป็นวัดวิปัสสนาธุระมาก่อน มีพระที่ขึ้นชื่อในทางวิปัสสนา เช่น ท่านเจ้าคุณพระสุธรรมสังวรเถร พระครูกสิณสังวร ทั้งสององค์เป็นอดีตเจ้าอาวาส โดยเฉพาะองค์หลังยังเป็นจิตรกรเอกร่วมสมัยกับขรัวอินโข่งอีกด้วย เป็นผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดทองนพคุณอันเลื่องลืออื้อฉาวมากในรัชกาลที่ 4

นอกจากพระอุโบสถ ซึ่งมีรูปทรงงามประหลาดและมีจิตรกรรมฝาผนังอันทรงคุณค่า อีกสิ่งหนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือ สำเภา มีต้นโพธิ์อยู่กลางลำ จะสร้างตั้งแต่สมัยใดไม่มีใครทราบได้ ถามคนเฒ่าคนแก่ย่านนี้ ก็ได้รับคำตอบว่า เกิดมาก็เห็นอยู่อย่างนั้นตั้งแต่เด็กๆ สันนิษฐานว่า คงสร้างพร้อมกับครั้งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) ปฏิสังขรณ์เป็นแน่ ถ้าไม่ก่อนนั้น ที่สันนิษฐานดังนี้ มีเหตุผลที่น่าเป็นไปได้

คือครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิสังขรณ์วัดคอกกระบือ ทรงพระราชดำริว่า เรือสำเภาจีนที่เคยใช้เดินทะเลกำลังจะหมดไป เพราะพ่อค้านิยมต่อเรือกำปั่นอย่างฝรั่ง ซึ่งสะดวกกว่าออกมาใช้ ควรจำลองไว้ให้ลูกหลานดู จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จำลองรูปสำเภาจีนมาสร้างไว้ นอกจากสร้างไว้ 'ให้ลูกหลานดู' แล้ว น่าจะมีเหตุผลทางอื่น คือเป็นสัญลักษณ์ทางธรรมอีกด้วย เพราะสำเภาเปรียบเสมือนพระธรรมที่นำพุทธบริษัทผู้ประพฤติธรรมข้ามห้วงมหรรณพ คือ สังสารวัฏ (ทัศนคติแนวนี้ มีกล่าวไว้ในมหาเวสสันดรชาดก ที่พระท่านเทศน์ในวันออกพรรษาทุกปี) เมื่อสร้างสำเภาเสร็จแล้ว พระราชทานนามใหม่ว่า 'วัดยานนาวา'

วัดทองนพคุณ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในเวลาไล่เลี่ยกับวัดยานนาวา จึงน่าเป็นไปได้ว่า ผู้ปฏิสังขรณ์ คือพระยาโชฎึกราชเศรษฐี คงจำลองแบบ 'นาวา' ของวัดดังกล่าวเป็นแน่

นอกจากที่กล่าวมานี้ ผมยังได้รับบอกเล่า 'เกร็ด' ประเภทเกร็ดพงศาวดารจากใครก็จำไม่ได้แล้วเกี่ยวกับสำเภาว่า สมัยหนึ่ง ผู้เล่าบอกว่าสมัยท่านเจ้าคุณพระสุธรรมสังวร ซึ่งเล่าลือกันว่าท่านมีคุณหยั่งรู้ พูดง่ายๆ ว่าไม่พระอรหันต์ก็น้องๆ พระอรหันต์เทือกนั้นแหละ ขณะที่ท่านเจ้าคุณกำลังนำพระในวัดสวดมนต์อยู่ จู่ๆ ท่านก็ร้องขึ้นว่า 'พวกเราช่วยกันอุดเรือหน่อยๆ' ร้องไม่ร้องเปล่า ม้วนสังฆาฏิอุดตามช่องกระดาน ท่ามกลางความประหลาดใจของพระลูกวัด เสร็จแล้วพูดต่อไปว่า 'เอ้อพ้นเคราะห์ไปที ปลอดภัยแล้ว'

เรื่องมาเปิดเผยขึ้นทีหลังว่า มีเจ้าสัวคนหนึ่งที่เคารพนับถือท่านเจ้าคุณ ได้มานมัสการท่าน หลังจากกลับจากแล่นเรือไปค้าขายที่เมืองจีน ได้เล่าว่า ตนเกือบเสียชีวิตกลางทะเลหลวง เพราะเรือถูกพายุพัดรั่วเสียหายจนเกือบล่ม เดชะบุญรอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์ เมื่อสอบถามวันเวลาที่เกิดเหตุ ตรงกับวันเวลาที่ท่านเจ้าคุณแสดงอาการประหลาดท่ามกลางภิกษุสงฆ์ในกรุงเทพฯ พอดิบพอดี เจ้าสัวทราบทีหลังว่าที่ตนรอดตายมาได้ เพราะท่านเจ้าคุณเมตตาช่วยชีวิตไว้ จึงได้สร้างสำเภาถวายเป็นอนุสรณ์ไว้ที่วัดทองนพคุณแต่บัดนั้นมา

นั่นเป็นประวัติพอสังเขป ของ 'วัดทองนพคุณ' ที่ท่านอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ท่านเขียนไว้ครับ

คราวนี้...มาดูที่ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน พระเทพปริยัติมุนี (สมคิด เขมจารี ป.ธ. 9) เขียนถึงศิษย์ที่เป็นบรรพชิต ของ 'วัดทองนพคุณ' บ้างครับ...

บุคลากรที่เป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นศิษย์วัดทองนพคุณ ได้รับการศึกษาปริยัติธรรมแล้วนำความรู้และประสบการณ์ไปเป็นผู้บริหารพระศาสนาวัดวาอารามในตำแหน่งต่างๆ อย่างน่าภาคภูมิใจ นับตั้งแต่รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เป็นต้น ดังขอยกมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้

1. พระธรรมวรนายก (โอภาส นิรุตฺติเมธี ป.ธ. 6) เจ้าอาวาส วัดพระนารายณ์มหาราช จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา

2. พระธรรมเสนานุวัตร (บำรุง ฐานุตฺตโร ป.ธ. 7) เจ้าอาวาส วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันเป็นรองเจ้าคณะภาค 5

3. พระราชวิจิตรการ (ภักดิ์ อตฺกถาโม ป.ธ. 8) เจ้าอาวาส วัดเศวตฉัตร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

4. พระราชพุฒิมุนี (ประทัย วชิรญาโณ ป.ธ. 5) เจ้าอาวาส วัดศรีสะเกษ จังหวัดหนองคาย ปัจจุบันเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย

5. พระราชปัญญาเวที (ริด ริตเวที ป.ธ. 9) เจ้าอาวาส วัดตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันเป็นรองเจ้าคณะภาค 4

6. พระมงคลวรคุณ (ถาวร คุณวุฑฺโฒ ป.ธ. 5) เจ้าอาวาส วัดศรีอุทุมพร อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัย

7. พระศรีสุธรรมเมธี (พิพัฒน์ จนฺทูปโม ป.ธ. 9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

8. พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาส วัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

9. พระดุษฎี เมธงฺกุโร เจ้าอาวาส วัดทุ่งไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

แม้ในหมู่มวลศิษย์ก็เช่นกัน ไม่ควรประมาทมัวเมา เย่อหยิ่ง จองหอง ตีตัวเทียมท่าน ลบหลู่ดูถูก ควรจะปลูกกตัญญูกตเวทิตาธรรมให้งอกงามในจิตใจ ไม่ควรเป็นไปในลักษณะที่ว่า

'ยามเรียนเห็นครูเป็นครู ยามรู้เห็นครูเป็นเพื่อน

ยามรวยเห็นครูรางเลือน ใกล้ตายใจเตือนถึงครู'


ครับท่าน...ครั้งนี้ผมขออนุญาต 'กตัญญู-บูชาครู' สักครั้งครับ 

สาธุ...
ความคิดเห็น :
1
อ้างอิง

Sue
 
Sue [68.202.141.xxx] เมื่อ 28/02/2020 06:34
ความคิดเห็นของผู้เข้าชม
ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น :
สถานะ : รหัสผ่าน :
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง :
รหัสความปลอดภัย :